คิดให้ดี! ก่อนคิดปลอมเอกสาร

คิดให้ดี! ก่อนคิดปลอมเอกสาร 

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ทำให้ของจริงและของปลอมแยกออกได้ยาก อีกทั้งกระบวนการปลอมแปลงก็ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเอกสารต่างๆ และรู้หรือไม่ว่า การปลอมแปลงเอกสารมีโทษไม่เบา ทั้งนี้รวมถึงการใช้เอกสารปลอมด้วยเช่นกัน ดังนั้นมาทำความเข้าใจขอบเขตของการปลอมแปลงเอกสาร เพื่อไม่ให้หลงพลาดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กันดีกว่า

เอกสาร คืออะไร?

เอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น

เอกสารที่มีความผิดหากปลอมแปลง หรือนำเอกสารปลอมมาใช้ 

1) เอกสารสิทธิ คือ เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือระงับสิทธิ อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หนังสือสัญญา ลอตเตอรี่ ใบเสร็จรับเงิน ใบรับหรือใบมอบฉันทะ

2) เอกสารราชการ คือ เอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้นหรือรับรอง โดยจะต้องเป็นการทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ด้วย หากทำนอกหน้าที่ย่อมไม่ใช่เอกสารราชการ ทั้งนี้ รวมถึงสำเนาเอกสารนั้นๆ ที่เจ้าพนักงานรับรองในหน้าที่ด้วย เช่น ป้ายทะเบียนรถ บัตรประชาชน ใบขับขี่ ทะเบียนสมรส

3) เอกสารตามมาตรา 266

•   เอกสารสิทธิเป็นเอกสารราชการ เช่น โฉนดที่ดิน

•   พินัยกรรม

•   ใบหุ้น ใบหุ้นกู้ ใบสำคัญของใบหุ้นหุ้นกู้

•   ตั๋วเงิน

•   บัตรเงินฝาก

แบบไหนเข้าข่ายทำเอกสารปลอม? 

การทำปลอม คือ เจตนาทำให้เหมือนจริง หรือเอาของเทียมมาทำให้เหมือนของแท้ ตามลักษณะต่อไปนี้

•   ทำเอกสารปลอมขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด

•   เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง

•   ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอม

•   การกระทำน่าจะเกิดความเสียหายแก่คนอื่นหรือประชาชน โดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อให้คนหนึ่งคนใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง

โทษของการปลอมเอกสาร 

มีความแตกต่างกันตามประเภทของเอกสารที่ปลอม ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 

ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265

ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ เช่น หนังสือสัญญากู้ยืมเงิน สัญญาซื้อขาย และสัญญาเช่า จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266

หากเอกสารที่ทำปลอมขึ้นมา เป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาจดทะเบียน และพินัยกรรม จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267

การให้ข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน ทำให้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ จะถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เอกสารปลอมมักถูกนำไปทำอะไร? 

•   ใช้

•   อ้างถึง

•   ใช้สำเนา

•   ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น

โดยผู้ที่ใช้เอกสารปลอม ไม่ว่าจะเพื่ออะไร มีความผิดตาม มาตรา 268 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้ทำเอกสารปลอม ตามประเภทของเอกสารที่ใช้นั้นๆ ตามมาตรา 264, 265 ,266 หรือ 267 ด้วยเช่นกัน

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว จึงควรให้ความสำคัญกับเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะเอกสารที่มีความผูกพันทางกฎหมาย เพราะไม่เพียงแค่การตั้งใจปลอมแปลงเอกสารเท่านั้นที่ได้รับโทษแต่ผู้ที่ใช้เอกสารปลอมเองแม้จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ก็ย่อมได้รับโทษเท่าเทียมกับผู้ปลอมแปลงเอกสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงลายมือชื่อในเอกสาร แม้เจ้าของลายมือชื่อจะยินยอมให้ลงชื่อแทน ก็ยังถือว่าเป็นการปลอมแปลงเอกสาร มีความผิดได้รับโทษในฐานปลอมแปลงเอกสารเช่นกัน (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการเซ็นชื่อแทนกัน
ในบทความเรื่อง เซ็นชื่อแทนกัน เท่ากับ ปลอมเอกสาร แม้เจ้าของยินยอมก็มีความผิด

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

สำนักงานกิจการยุติธรรม

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?