ส่งเสริมการอ่าน ลดหย่อนภาษี

ส่งเสริมการอ่าน ลดหย่อนภาษี

18 เมษายน 2563

จากแนวคิดที่จะส่งเสริมการอ่านในบ้านเรา โครงการช้อปช่วยชาติ 2561 จึงมี ‘หนังสือ’ เป็นหนึ่งในสินค้าที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่จริงๆ แล้วมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีกับการส่งเสริมการอ่านที่น่าสนใจอยู่

สิทธินี้ใช้ได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สำหรับใครที่อยากส่งเสริมการอ่านสามารถใช้สิทธิ์กันได้เลยครับ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

บริจาคเงิน (เพื่อจัดหาหนังสือในสถานศึกษา) นำมาลดหย่อนได้ 2 เท่า

ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้พึงประเมิน
หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น (ก่อนหักลดหย่อนเงินบริจาค) เป็นจำนวนเงิน 2 เท่าของจำนวนเงินที่บุคคลธรรมดา จ่ายให้แก่ สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล สถาบันอุดมศึกษาเอกชน โรงเรียนเอกชน วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน

แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาแล้ว จะต้องไม่เกิน ร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมิน หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนนั้น

 

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

บริจาคเงินหรือทรัพย์สิน นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า

สถานศึกษา : รายจ่ายที่บริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายให้กับสถานศึกษาเพื่อส่งเสริมการอ่านและการศึกษา

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่าย ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายให้แก่ สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล สถาบัน- อุดมศึกษาเอกชน โรงเรียนเอกชน วัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมการอ่าน ไม่ว่าจะได้จ่ายเป็น เงินหรือทรัพย์สิน 

แต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษาและรายจ่ายในการจัดสร้างบำรุงสนามเด็กเล่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาของเอกชนที่เปิดให้ประชาชนใช้เป็นการทั่วไปโดยไม่เก็บค่าบริการใดๆ ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิก่อนหักรายจ่ายเพื่อการกุศล

 

รายจ่ายจัดหาหนังสือ นำมาหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า

ห้องสมุด : รายจ่ายที่บริษัท/ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จ่ายเป็นค่าจัดหาหนังสือ/สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำหรับหอสมุด/ห้องสมุดในบริษัทฯ

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทฯสำหรับเงินได้เป็นจำนวน 2 เท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาหนังสือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งเสริมการอ่าน สำหรับหอสมุดหรือห้องสมุดของบริษัทฯ นั้น

เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

 

อ้างอิง : พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๕๑๕)พ.ศ. ๒๕๕๔

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?