Bitcoin เงินดิจิทัล  : จับต้องไม่ได้แต่ใช้งานได้จริง

Bitcoin เงินดิจิทัล

19 มิถุนายน 2562

รัฐบาลหลายๆ ประเทศให้ความสนใจกับสกุลเงิน  Bitcoin ”บิทคอยน์” มากขึ้น มีทั้งการยอมรับและไม่ยอมรับ ด้วยปัจจัยด้านความเชื่อมั่นของมูลค่า เนื่องจากยังมีราคาที่ผันผวนและผู้คนยังไม่รู้จักสกุลเงินประเภทนี้ดีพอ

ปี 2017 เหมือนจะเป็นปีทองของ Bitcoin ด้วยราคาที่พุงสูงถึง 600,000 บาท ต่อ 1 เหรียญ แพงกว่าทองคำถึง 2 เท่าตัวเลยทีเดียว ที่ผ่านมาแม้จะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงและมีกระแสว่าจะเป็นสกุลเงินที่เข้ามาเปลี่ยนโลก ทว่ายังไม่ได้แพร่หลายในทุกกลุ่มคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2018 นี้บิทคอยน์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างแน่นอน

 Bitcoin คืออะไร ทำอย่างไรถึงจะมีไว้ครอบครอง?

บิทคอยน์ เป็นชื่อของสกุลเงินดิจิทัลชนิดหนึ่ง ถ้าจะเปรียบเทียบให้เข้าใจง่าย ๆ ก็เหมือนสกุลเงินบาท ดอลล่าร์ หยวน ซึ่งก็แน่นอนว่ายังมีเงินดิจิทัลอื่นๆ ที่เราอาจจะไม่ได้ยินบ่อย แต่ก็มีมูลค่าเช่นกัน อาทิ Ripple, Ethereum, Litecoin ซึ่งสกุลเงินเหล่านี้จะถูกทำงานด้วยระบบของ Blockchain ที่มีการเข้ารหัสอย่างปลอดภัย ไม่มีการเปิดเผยตัวตน และไม่มีใครมาเป็นตัวกลางที่จะควบคุมมูลค่า ซึ่งตรงนี้ทำให้ถูกมองว่าบิทคอยน์เป็นแหล่งฟอกเงินชั้นดี

Satoshi Nakamoto ผู้คิดค้น Bitcoin มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสกุลเงินที่เป็นอิสระจากรัฐบาลและธนาคาร สามารถส่งหากันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ และมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่าการใช้เงินสดในปัจจุบัน โดยสกุลเงิน Bitcoin ก็เหมือนทรัพยากรอย่างทองคำ มีการกำหนดมูลค่าไว้ทั้งหมดที่ 21 ล้านเหรียญ ซึ่งปัจจุบันถูกขุดออกมาแล้วกว่า 16 ล้านเหรียญ โดยการขึ้นลงของราคาบิทคอยน์จะอ้างอิงด้วยความต้องการของตลาด การเก็งกำไรของนักลงทุน และข่าวคราวด้านความปลอดภัยของระบบ

การเป็นเจ้าของบิทคอยน์มี 2 วิธีคือ การเทรดผ่านเว็บไซต์ด้วยเงินสดเหมือนกับการซื้อขายหุ้น และการขุดบิทคอยน์โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งการขุดนั้นคอมพิวเตอร์จะต้องแข่งประมวลผลการทำรายการให้ได้เร็วที่สุด ผู้ชนะจะได้รับบิทคอยน์เป็นค่าตอบแทน ดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ขุดต้องมีความทนทาน และประมวลผลรวดเร็ว และความต้องการขุดนี้ทำให้การ์ดจอบางรุ่นมีราคาสูงขึ้นและขาดตลาดด้วย

 Bitcoin ใช้ทำอะไรได้บ้าง

อย่างที่กล่าวไปว่าบิทคอยน์คือสกุลเงินชนิดหนึ่ง ที่ถึงแม้จะจับต้องไม่ได้แต่ก็มีคุณสมบัติเทียบเท่ากับเงินสดที่เราใช้กันอยู่ทุกประการ สามารถทำธุรกรรมได้โดยผู้ใช้งานต้องมีบัญชีบิทคอยน์ ที่ทำงานเหมือนกับ E-wallet สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ จ่ายเงินได้ตามร้านค้า หรือเว็บไซต์ที่รองรับ อาทิ Amazon, Walmart, Apple ส่วนในประเทศไทยก็เริ่มมีร้านค้า แพลตฟอร์มที่รองรับอย่างเช่น  ร้านอาหารลิ้มเหล่าโหงว โรงแรม Chelona Beach เป็นต้น

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอนาคตทุกร้านค้าจะรับชำระด้วยบิทคอยน์ แพลตฟอร์มเกม Steam ที่เคยเปิดรับการชำระเงินด้วยบิทคอยน์เมื่อปี 2016 ก็ออกมาประกาศยกเลิกรับเงินดิจิทัลนี้แล้ว ด้วยเหตุผลทางด้านความผันผวนของราคา และปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้เหมือนกับการใช้เงินสด และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีข่าวลือว่าไมโครซอฟต์ก็ปฏิเสธรับบิทคอยน์แล้วด้วยเช่นกัน

 สถานการณ์ Bitcoin ในประเทศไทย

ที่ผ่านมาอาจจะเคยได้ยินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าการบิทคอยน์เป็นการพนัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ก้ำกึ่ง เพราะการเทรดนั้นต้องอาศัยความเสี่ยงซื้อขายด้วยอัตราการขึ้นลงของเหรียญและในประเทศไทยเองยังไมได้มีกฎหมายรองรับสกุลเงินดิจิทัลนี้ หากโดนโกงหรือเกิดการสูญหายของผู้ลงทุน ผู้เสียหายก็จะถูกปฏิเสธความรับผิดชอบจากผู้เกี่ยวข้อง

ส่วนเรื่องของ Bitcoin Futures นั้นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่การซื้อขายสกุลเงินบิทคอยน์แต่อย่างใด ไม่สามารถใช้ทำธุรกรรมได้ แต่ Bitcoin Futures เป็นชื่อเรียกของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ตราสารอนุพันธ์ชนิดหนึ่ง) ที่มีการเริ่มขายแล้วในตลาด CME และ CBOE Futures Exchange สหรัฐอเมริกา ภายใต้การดูแลขององค์กรสมาชิก IOSCO ที่เป็นมาตรฐานสากล โดยการซื้อขาย Bitcoin Futures ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ในไทย ก็จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.)

ดังนั้นการรองรับ Bitcoin Futures ให้เป็นเรื่องถูกกฏหมายจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นั้น คือการอนุญาตให้มีการลงทุนเพื่อซื้อขายสัญญา ไม่ใช่การซื้อขายสกุลเงิน

 

สำหรับอนาคตของบิทคอยน์ในไทย ตอนนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังอยู่ในช่วงการศึกษาทำความเข้าใจกับระบบการทำงานเพื่อออกกฎหมายรองรับ (หากมองเห็นโอกาส) และสร้างการรับรู้เรื่องของการลงทุนในเหรียญต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนใช้งานบิทคอยน์อย่างถูกต้อง หมายความว่าขณะนี้บิทคอยยังไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายบ้านเรานั่นเอง

 

เรื่อง : กองบรรณาธิการ www.dharmniti.co.th

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?