การประเมินผลการปฏิบัติงานกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

เลิกจ้างไม่เป็นธรรม

18 มิถุนายน 2562

หากต้องเลิกจ้างเนื่องจากผลการทำงานของพนักงานไม่น่าพอใจ นายจ้างคงต้องพึงระวังที่จะถูกถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย

เชื่อว่าสถานประกอบการส่วนใหญ่จะมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างของตนเป็นประจำทุกปี หรือทุก 6 เดือน ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การประเมินผลดังกล่าวนั้นมักจะถูกใช้เป็นข้อมูลสำคัญอย่างหนึ่งในการพิจารณาการปรับเงินเดือนและการจ่ายโบนัสประจำปี

ลูกจ้างที่มีผลการประเมินการปฏิบัติงานไม่ดี นอกจากจะมีผลต่อการปรับเงินเดือนและหรือการจ่ายโบนัสประจำปีแล้ว ยังอาจมีผลต่อการทำงานต่อไปของลูกจ้างอีกด้วย เนื่องจากนายจ้างอาจไม่สามารถยอมรับผลการประเมินฯ ได้ ลูกจ้างจึงมีหน้าที่ต้องแก้ไขปรับปรุงตัวเพื่อให้มีผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม หากลูกจ้างยังคงมีผลการปฏิบัติงานที่ย่ำแย่ต่อไปเรื่อยๆ ถึงขนาดที่ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้แล้ว นายจ้างคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากที่จะเลิกจ้างลูกจ้างรายนี้ต่อไป

 

สิทธิประโยชน์พื้นฐานตามกฎหมายแรงงานลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับ

การเลิกจ้างเนื่องจากผลการประเมินการปฏิบัติงานของลูกจ้างไม่ดีนั้น ไม่ถือว่า ลูกจ้างได้กระทำความผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นบรรดาสิทธิประโยชน์พื้นฐานตามกฎหมายแรงงานลูกจ้างจะมีสิทธิได้รับ ได้แก่

1.ค่าชดเชย  ขึ้นอยู่ว่า ลูกจ้างทำงานมานานเท่าใด โดยเริ่มตั้งแต่ทำงานครบ 120 วัน ได้ค่าชดเชย 30 วัน จนถึงสูงสุดทำงานครบ 10 ปี ได้ค่าชดเชย 300 วัน ซึ่งการคิดคำนวณค่าชดเชยจะต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน

2.สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไม่น้อยกว่าการจ่ายค่าจ้าง 1 งวด หากนายจ้างประสงค์ให้ลูกจ้างหยุดทำงานต่อไปทันที ก็สามารถจ่ายเป็นค่าจ้างให้แทนได้ กรณีเช่นนี้ นายจ้างจะต้องพิจารณาลงไปในรายละเอียดของการประเมินของลูกจ้างด้วยว่า สาเหตุที่ลูกจ้างได้รับผลการประเมินฯ ที่ไม่ดีนั้น อาจเป็นเพราะลูกจ้างได้มีส่วนในการฝ่าฝืนกฎหมายด้วยก็ได้ โปรดพิจารณามาตรา 583 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้

 “ถ้าลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายก็ดี หรือละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งเช่นว่านั้นเป็นอาจิณก็ดี ละทิ้งการงานไปเสียก็ดี กระทำความผิดอย่างร้ายแรงก็ดี หรือทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตก็ดี ท่านว่านายจ้างจะไล่ออกโดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือสินไหมทดแทนก็ได้”

ดังนั้นหากผลการประเมินการปฏิบัติงานของลูกจ้างไม่ดีอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนกฎหมายมาตรานี้แล้ว นายจ้างสามารถเลิกจ้างลูกจ้างได้โดยไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

3.ค่าชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปี

นายจ้างจะต้องพิจารณาก่อนว่า ลูกจ้างคงเหลือวันหยุดพักผ่อนประจำปีในปีที่ถูกเลิกจ้างกี่วัน และนายจ้างจะต้องจ่ายเป็นเงินแทนเท่ากับค่าจ้างในวันหยุดดังกล่าว

4.เงินประกันการทำงาน (ถ้ามี)

5.เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ถ้ามี) ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของกองทุนดังกล่าว

6.เงินอื่น จะต้องพิจารณาตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ประกาศ ระเบียบ คำสั่งที่เกี่ยวข้อง เป็นกรณีๆ ไป

ผลประโยชน์ดังกล่าว นายจ้างมักจะจำยอมจ่ายให้ เพราะมีความชัดเจนในเรื่องข้อกฎหมาย การฝ่าฝืนอาจต้องรับโทษทางอาญา แต่ยังมีผลประโยชน์อีกจำนวนหนึ่งที่ต้องรอให้ศาลแรงงานเป็นผู้กำหนดแต่เพียงผู้เดียวก็คือ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ซึ่งการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม หมายถึง “การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่มีสาเหตุ หรือมีสาเหตุอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่สาเหตุที่จำเป็น หรือสมควรถึงกับต้องเลิกจ้างลูกจ้างนั้น”

 

ความเสี่ยงที่จะถูกถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

การที่นายจ้างจะนำผลการประเมินการปฏิบัติงานของลูกจ้างที่ไม่ดีเพียงเหตุผลเดียวเพื่อบอกเลิกจ้างลูกจ้างนั้น มีความเสี่ยงที่จะถูกถือเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ ซึ่งจะทำให้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ได้จ่ายเงินไปแล้วข้างต้น หรืออาจจำต้องรับลูกจ้างกลับเข้ามาทำงานตามคำพิพากษาของศาลแรงงานก็เป็นได้ สาเหตุเพราะผลการประเมินส่วนใหญ่มักจะมาจากการประเมินผลฝ่ายเดียวของหัวหน้างานและหรือนายจ้าง แม้นายจ้างมักจะให้ลูกจ้างได้โอกาสที่จะประเมินตนเองได้ด้วยก็ตาม แต่นายจ้างมักจะไม่ให้ความสำคัญในผลการประเมินตนเองของลูกจ้างเท่าใดนัก

นอกจากนี้นายจ้างจะต้องพิจารณาย้อนกลับไปดูผลการประเมินการปฏิบัติงานของลูกจ้างย้อนหลังกลับไปด้วย ใช่เพียงแต่ผลการประเมินฯ เพิ่งจะไม่ดีเพียงปีล่าสุดปีเดียว แต่ผลการประเมินฯ ปีก่อนหน้านั้นดีมาตลอด หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุนี้ ย่อมไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างเช่นกัน

แม้ว่าจะดูเสมือนว่า นายจ้างจะไม่สามารถใช้ผลการประเมินการปฏิบัติงานของลูกจ้างเพียงอย่างเดียวมาเป็นเหตุผลในการเลิกจ้างลูกจ้างก็ตาม แต่หากนายจ้างและลูกจ้างได้มีการตกลงเดิมพันไว้ในสัญญาจ้างแรงงานไว้แต่แรกว่า จะใช้ผลการประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเป็นตัวชี้วัดความสามารถของลูกจ้าง และหากผลการประเมินฯ ของลูกจ้างต่ำกว่ามาตราฐานที่นายจ้างกำหนดไว้แล้ว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานได้แล้ว ดังนั้น การที่นายจ้างได้ใช้สิทธิของตนตามที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานดังกล่าวเลิกจ้างลูกจ้าง การเลิกจ้างนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมขึ้นมาได้

ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไม่ดีทำให้นายจ้างเกิดปัญหาจึงจำต้องลดจำนวนคนลงบางส่วน การคัดสรรลูกจ้างที่โชคร้ายที่จะต้องถูกเลิกจ้างนั้น นายจ้างจะใช้วิธีเก็บแต่คนที่มีผลการปฏิบัติงานที่ดีไว้ และเลือกเลิกจ้างเฉพาะคนที่ผลการประเมินการปฏิบัติงานที่ไม่ดีออกไปนั้น การกระทำเช่นนี้ก็ถือได้ว่า ไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง เนื่องจากสาเหตุหลักที่ทำให้นายจ้างจำต้องลดคนลงนั้น ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง นายจ้างจึงจำต้องไปคิดหาวิธีการคัดเลือกลูกจ้างออกที่ยุติธรรมต่อลูกจ้างทุกคน ซึ่งหมายความว่า ลูกจ้างทุกคนไม่ว่าผลการประเมินการปฏิบัติงานจะเป็นอย่างไร มีโอกาสถูกเลิกจ้างได้เท่าเทียมกัน เว้นแต่นายจ้างและลูกจ้างได้มีการตกลงกันไว้ล่วงหน้าในสัญญาจ้างแรงงานอย่างเช่นที่ได้กล่าวไว้ในวรรคก่อน

การที่นายจ้างนำผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างมาใช้ในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างนั้น นายจ้างจะต้องใช้อย่างระมัดระวังเพราะมีความเสี่ยงอย่างเช่นที่ผู้เขียนได้กล่าวไว้ นายจ้างควรให้โอกาสแก่ลูกจ้างที่จะได้แก้ไขปรับปรุงตัวเองเสียก่อน หรือใช้มาตรการเยียวยาอย่างอื่น เช่น โยกย้ายลูกจ้างไปทำงานในฝ่ายอื่นแทน เป็นต้น การที่นายจ้างเลือกใช้วิธีเลิกจ้างลูกจ้างนั้นแม้ว่านายจ้างจะได้จ่ายเงินเยียวยาตามกฎหมายแรงงานให้กับลูกจ้างแล้วก็ตาม ลูกจ้างก็ยังคงได้รับความเสียหายต่อจิตใจและชื่อเสียงของลูกจ้างอีกด้วย

 

ที่มา  :  จากบทความ “การประเมินผลการปฏิบัติงานกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม”  โดย อาจารย์วรเศรษฐ์ เผือกสกนธ์ Section : กฎหมายแรงงาน Column : เรื่องข้น คน HR วารสาร HR Society magazine ปีที่ 16 ฉบับที่ 191 เดือนพฤศจิกายน 2561

Copyright ©2024  dharmniti.co.th All rights reserved.

Log in with your credentials

Forgot your details?